SAT คืออะไร เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ก่อนสอบต้องทำความเข้าใจ

SAT หรือ Scholastic Aptitude Test เป็นอีกประเภทการสอบที่กำลังได้รับความนิยม และมีการยอมรับจากทั่วโลก รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองไทยด้วย ดังนั้นใครที่กำลังสนใจอยากทดสอบจึงต้องทำความเข้าใจข้อมูลทุกด้านแบบครบถ้วน เพื่อให้การตัดสินใจเป็นเรื่องง่ายและใช้คะแนนอย่างมีประสิทธิภาพ


SAT คืออะไร?

SAT คือ ข้อสอบในรายวิชาความถนัดคณิตศาสตร์ (Mathematics) และความถนัดภาษาอังกฤษ (Reading & Writing) ของระดับชั้น ม.ปลาย ถือเป็นข้อสอบที่มีมาตรฐานและผ่านการยอมรับจากทั่วโลก ดำเนินการสอบโดย College Board แต่ละปีจะเปิดสอบประมาณ 4-6 ครั้ง 


ทำไมต้องสอบ SAT ?

การสอบ SAT ของน้อง ๆ นักเรียนระดับชั้น ม.ปลาย จะมีจุดประสงค์สำคัญในการนำเอาคะแนน SAT ที่ได้ไปยื่นสมัครเรียนต่อระดับปริญญาตรีกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ รวมถึงมหาวิทยาลัยอินเตอร์หลายแห่งในเมืองไทย


ใครบ้างที่ต้องสอบ SAT?

สำหรับน้อง ๆ ในระดับ ม.ปลาย คนไหนที่สนใจเรียนต่อระดับปริญญาตรีกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ รวมถึงคนที่มีเป้าหมายในการเรียนต่อภาคอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยเมืองไทยหลาย ๆ แห่ง


สมัครสอบ SAT อย่างไร?

เข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ https://satsuite.collegeboard.org/sat/registration 

  1. เข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ https://satsuite.collegeboard.org/sat/registration 
  2. ทำการสร้างบัญชีของตนเองให้เรียบร้อยด้วยการใส่ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพิ่ม Username และ Password สำหรับล็อกอิน
  3. มีการเพิ่มข้อมูลด้านผลการศึกษา วางแผนการเรียนในอนาคต จากนั้นกดยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไข
  4. การสอบในประเทศไทยให้เลือก Outside the United States
  5. เลือกรอบการสอบ สนามสอบ 
  6. อัปโหลดไฟล์ภาพตามเงื่อนไขที่กำหนด
  7. ชำระเงินให้เรียบร้อย เมื่อได้ Admission Ticket ให้พิมพ์ออกมาเพื่อใช้ยื่นในวันสอบต่อไป


ตารางสอบ SAT สอบเมื่อไร?

อย่างที่อธิบายไปว่าการสอบ SAT แต่ละปีจะมีการกำหนดประมาณ 4-6 ครั้ง ซึ่งทาง College Board จะเป็นผู้ระบุเอาไว้ตามความเหมาะสม ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมามักมีการจัดสอบในเดือน มีนาคม, พฤษภาคม, มิถุนายน, สิงหาคม, ตุลาคม และธันวาคม โดยวันที่สอบส่วนใหญ่จะเป็นวันเสาร์ของเดือนนั้น ๆ


SAT สอบที่ไหน? 

สถานที่ในการสอบ SAT จะมีการเพิ่ม-ลดตามความเหมาะสมหรือการติดต่อระหว่างผู้ดำเนินการและสถานที่ที่ใช้ในการสอบ ซึ่งอัปเดตล่าสุดในเมืองไทยจะมีศูนย์สอบ SAT ที่ได้รับความนิยม ดังนี้

  • Bangkok International Christian School สวนหลวง กรุงเทพ
  • Concordian International School อำเภอบางพลี สมุทรปราการ
  • Harrow International School ดอนเมือง กรุงเทพ
  • International Community School บางนา กรุงเทพ
  • KIS International School ห้วยขวาง กรุงเทพ
  • Ruamrudee International School มีนบุรี กรุงเทพ
  • Shrewsbury International School บางคอแหลม กรุงเทพ
  • The Regents International School Bangkok วังทองหลาง กรุงเทพ 
  • Mahidol University International College อำเภอศาลายา นครปฐม
  • Chiang Mai International School อำเภอเมือง เชียงใหม่
  • Regents International School – Pattaya อำเภอบางละมุง ชลบุรี
  • British International School – Phuket อำเภอเมือง ภูเก็ต


ค่าสอบ SAT เท่าไร?

สำหรับค่าสอบ SAT ของประเทศไทยจะอยู่ที่ 100.50 USD หรือเทียบเป็นเงินไทยประมาณ 3,200 บาท (ขึ้นอยู่กับค่าเงิน) และสามารถสอบได้ทั้ง 2 รายวิชา ทั้งนี้หากใครสมัครสอบไม่ถึง 1 เดือน จะมีค่า Late Fee อีก 29 USD ด้วย


SAT ใช้ยื่นอะไรได้บ้าง

นอกจากการยื่นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ แล้ว ยังสามารถใช้ยื่น TCAS รอบ 1 (รอบ Portfolio) หรือบางสถาบันก็ใช้คะแนน SAT เพียงอย่างเดียวเลย เช่น BBA CHULA, BBA TU, BE TU, EBA CHULA, BBA KU, EBA KU, BALAC CHULA, COMARTS CHULA, LL.B. TU, MUIC (บางหลักสูตร) ได้เลย


ข้อสอบ SAT Eng ออกอะไรบ้าง?

ข้อสอบ SAT Eng จะเป็นลักษณะของพาร์ท Reading & Writing ให้เวลารวม 1 ชั่วโมง 40 นาที แบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ชุด ได้แก่

  • Section 1 Reading มี 52 ข้อ ประเมินผู้สอบด้านการอ่าน จาก 5 บทความตามหัวข้อ และตอบคำถาม 
  • Section 2 Writing and Language มี 44 ข้อ จาก 4 บทความ ประเมินทักษะด้านการเขียน ให้ตรงตามหลักไวยากรณ์ การใช้เครื่องหมายวรรคตอน การใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์


ข้อสอบ SAT Math ออกอะไรบ้าง?

Mathematics ให้เวลารวม 1 ชั่วโมง 20 นาที แบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ชุด ได้แก่

  • Math Test (Calculator) มี 38 ข้อ เป็นลักษณะถามตอบทั้งแบบปรนัย (กากบาท) และเติมคำตอบให้ถูกต้อง สามารถใช้เครื่องคิดเลขช่วยคำนวณได้ 
  • Math Test (No calculator) มี 20 ข้อ แบ่งเป็นข้อสอบปรนัย 16 ข้อ และเติมคำตอบ 4 ข้อ ไม่สามารถใช้เครื่องคิดเลขได้


เตรียมตัวสอบ SAT

1. รู้ความถนัดและจุดอ่อนของตนเอง

ต้องประเมินตนเองก่อนว่ามีความถนัดด้านไหน และมีเรื่องใดเป็นจุดอ่อน เช่น บางคนเก่งภาษาอังกฤษ แต่ไม่ถนัดคณิตศาสตร์ เมื่อรู้แบบนี้ก็ต้องหมั่นหาความรู้ในรายวิชาที่ยังไม่ค่อยเก่งให้เพิ่มขึ้น ขณะที่วิชาที่ถนัดอยู่แล้วก็ต้องเพิ่มเติมอัปเดตเนื้อหาอยู่ตลอด

2. ลองทำข้อสอบเก่า แบบฝึกหัดบ่อย ๆ

การทำข้อสอบเก่า หรือแบบฝึกหัด SAT จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจลักษณะการสอบมากขึ้น รู้ว่าข้อสอบแต่ละพาร์ทจะเป็นแนวไหน ต้องจับแนวทางหรือใจความยังไงเพื่อให้ตนเองสอบแล้วมีคะแนนดีขึ้น ผ่านตามเกณฑ์ที่ควรเป็น

3. คอร์สติวสอบช่วยด้านเทคนิคได้จริง

ไม่ว่าจะเป็นการหาคอร์สออนไลน์เรียนฟรี หรือคอร์สจากสถาบันก็ตาม ติวเตอร์จะมีการแนะนำเทคนิค วิธีคิดต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนทุกคน สามารถนำไปปรับใช้กับการสอบของตนเองได้ง่ายขึ้น รวมถึงจุดอ่อนที่ตนเองมียังถูกแก้ไขได้รวดเร็วกว่าเดิมด้วย

4. ทบทวนเนื้อหาเป็นประจำ

วิธีนี้ไม่ต้องทำข้อสอบแต่ใช้การทบทวนเนื้อหาแบบสรุปที่ตนเองได้มา อาจสรุปด้วยตนเองแบบเข้าใจง่าย หรือการสรุปจากติวเตอร์ที่สอนก็มีประโยชน์ไม่แพ้กัน ลดความกดดัน และความเครียดลง เพื่อให้สมองโปร่ง ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการสอบมากขึ้น

5. วางแผนให้พร้อมในวันสอบ

ท้ายที่สุดต้องวางแผนในวันสอบให้ดี เช่น การเดินทาง การพักผ่อน การทานอาหารที่เหมาะสม ไปถึงสถานที่สอบไม่ต่ำกว่า 30 นาที ลดความกดดัน และยังมีเวลาทบทวนเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก่อนเข้าสอบด้วย