BMAT คืออะไร สำหรับคนที่วางแผนสอบแพทย์ต้องศึกษาให้เข้าใจ

BMAT หรือ BioMedical Admissions Test เป็นอีกประเภทการสอบที่มีความสำคัญมากสำหรับคนที่วางแผนชีวิตของตนเองเอาไว้ว่าอยากเรียนในด้านแพทยศาสตร์ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือต่างประเทศก็ตาม จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกันให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อการตัดสินใจอย่างถูกต้อง


BMAT คืออะไร?

BMAT คือ รูปแบบการทดสอบเฉพาะทางด้านความถนัดสำหรับคนที่สนใจเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ชีวการแพทย์ สัตวแพทยศาสตร์ รวมถึงทันตแพทยศาสตร์ ดูแลและควบคุมการสอบโดย Cambridge Assessment Admissions Testing คะแนนสอบมีอายุ 1 ปี


ทำไมต้องสอบ BMAT ?

การสอบ BMAT จะถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการยื่นสมัครเรียนคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ จึงถือเป็นอีกช่องทางดี ๆ ในการประเมินความรู้และใช้ผลลัพธ์ของคะแนนตามเป้าหมายที่คาดหวัง


ใครบ้างที่ต้องสอบ BMAT?

น้อง ๆ ที่จะสอบ BMAT ต้องเป็นคนที่เรียนในสายวิทย์-คณิต ผ่านทักษะการเรียนในด้านฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคณิตศาสตร์ มีความประสงค์จะเข้าเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยทั้งสถาบันในเมืองไทยหลายแห่ง รวมถึงในต่างประเทศด้วย


สมัครสอบ BMAT อย่างไร?

การสมัครสอบ BMAT จะเป็นการสอบแบบ Worldwide ดังนั้นผู้สอบจึงต้องเลือกสถานที่สอบตามความสะดวกของตนเองเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำตามได้ดังนี้

  1. คลิกเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ https://www.admissionstesting.org/campaigns/bmat-thailand/
  2. แถบด้านบนสุดให้เลือก Fine a Test Centre 
  3. เลื่อนลงมาจะเจอหัวข้อ “Search for an authorized test Centre” เลือก Location เป็น Thailand เลือกพื้นที่การสอบ และจังหวัด กด Search 
  4. ระบบจะขึ้นศูนย์สอบที่มีให้ตามรูปแบบที่เลือก สะดวกสอบที่ไหนให้คลิกไปยังหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ แล้วทำตามขั้นตอนของศูนย์สอบดังกล่าวได้เลย

ปล. ในการสมัครสอบ BMAT แต่ละศูนย์สอบอาจมีการกำหนดวัน-เวลาสอบแตกต่างกันออกไป รวมถึงขั้นตอนการลงทะเบียนและการอัปโหลดไฟล์เอกสาร จึงอยากให้เช็กข้อมูลอย่างละเอียดของศูนย์ที่ต้องการสอบ


ตารางสอบ BMAT สอบเมื่อไร?

ปกติแล้วการสอบ BMAT จะจัดขึ้นปีละ 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม) โดยทางผู้จัดสอบจะมีการแจ้งรายละเอียดผ่านช่องทางหน้าเว็บไซต์ https://www.admissionstesting.org/campaigns/bmat-thailand/ อย่างไรก็ตามผู้สอบจะเลือกได้แค่ปีละ 1 รอบเท่านั้น


BMAT สอบที่ไหน?

สำหรับศูนย์สอบ BMAT ในเมืองไทย สามารถเลือกได้ตามความสะดวกของผู้สอบซึ่งจะมีรายละเอียดระบุเอาไว้ในขั้นตอนการสมัคร ซึ่งถ้าเน้นเฉพาะศูนย์สอบที่ได้รับความนิยมประกอบไปด้วย

  • British Council Bangkok ซอยจุฬา 64 สยามสแควร์ กรุงเทพ
  • Capwise Bangkok ซอยสุขุมวิท 50 คลองเตย กรุงเทพ
  • Cicm มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) คลองหลวง ปทุมธานี


ค่าสอบ BMAT เท่าไร?

ในส่วนของค่าสอบ BMAT จะอยู่ที่ 83 EUR หรือประมาณ 3,200 บาท (ขึ้นอยู่กับค่าเงินอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลานั้น ๆ)


BMAT สอบอะไรบ้าง?

ข้อสอบ BMAT จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ เพื่อประเมินทักษะแบบรอบด้านสำหรับคนที่ต้องการเรียนต่อแพทยศาสตร์ ประกอบไปด้วย


BMAT Part 1 Thinking Skills 

เป็นข้อสอบที่จะประเมินเชาว์ปัญญาและทักษะคิดวิเคราะห์ การเข้าใจเนื้อหาบทความ สามารถแก้ไขปัญหาที่จำเป็นได้ สอบแบบปรนัยทั้งหมด 32 ข้อ แบ่งเป็น Problem Solving 16 ข้อ และ Critical Thinking 16 ข้อ คะแนนรวม 32 คะแนน เวลาสอบ 1 ชม. 


BMAT Part 2 Scientific Knowledge and Applications

เป็นข้อสอบที่จะประเมินความรู้ ทักษะในด้านวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) และด้านคณิตศาสตร์ ตามรายวิชาเนื้อหาของการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทดสอบการนำความรู้ที่มีและทฤษฎีต่าง ๆ ให้นำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม แบ่งเป็น Mathematics 6 ข้อ Biology 7 ข้อ Chemistry 7 ข้อ และ Physics 7 ข้อ คะแนนรวม 27 คะแนน เวลาสอบ 30 นาที


BMAT Part 3 Writing Task 

เป็นข้อสอบแบบอัตนัย (Essay) จะมีทั้งหมด 3 เรื่อง ให้เลือกเขียน 1 เรื่อง ความยาว 300 คำ แบ่งคะแนนประเมินเป็น 2 กลุ่ม คือ ทดสอบเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น การใช้เหตุผลอย่างเหมาะสม (Quality of Content) ให้คะแนนระดับ 0-5 และ ทดสอบการใช้คำศัพท์ ไวยากรณ์ เครื่องหมายต่าง ๆ การเรียงประโยคให้มีความเชื่อมโยง สัมพันธ์กัน (Quality of Writing) ให้คะแนนระดับ A-E 


เตรียมตัวสอบ BMAT


1. ทำความเข้าใจแนวทางข้อสอบ

การสอบ BMAT จะมีความเฉพาะตัวสูง เนื่องจากเป็นการประเมินผู้ที่จะเรียนต่อในด้านแพทยศาสตร์ ผู้สอบจึงต้องเข้าใจแนวทางที่ชัดเจน โดยเนื้อหาการสอบแบ่งเป็น 3 Part ตามที่ระบุเอาไว้ด้านบน และต้องเช็กว่าตนเองมีความถนัด-ไม่ถนัดในด้านไหน เพื่อจะได้วางแผนการฝึกฝนอย่างเหมาะสม


2. ทำข้อสอบเก่าหรือแบบฝึกหัดให้บ่อย

การมีโอกาสได้ทำข้อสอบเก่าและทำแบบฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้สอบเกิดความคุ้นชิน และมองเห็นแนวทางเบื้องต้นของข้อสอบว่าจะออกมาในลักษณะใด เพิ่มทักษะ สร้างความเข้าใจ ที่สำคัญช่วงก่อนถึงวันสอบจริงควรมีการจับเวลาในการทำข้อสอบเสมือนกำลังสอบในศูนย์สอบด้วย


3. มองหาคอร์สติวสอบที่มีคุณภาพ

ตามที่อธิบายไปว่าการสอบ BMAT มีความเฉพาะตัวสูงมาก การได้ความรู้พร้อมเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ในการสอบย่อมช่วยเพิ่มโอกาสทำคะแนนให้สูงขึ้นได้จริง ซึ่งคอร์สติวเหล่านี้ไม่ใช่แค่เนื้อหาทั่วไปที่มีอยู่ฟรีแต่ควรเลือกเรียนกับติวเตอร์ที่มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง


4. ทบทวนการเรียนและเนื้อหาให้บ่อย

การเตรียมตัวส่วนนี้อาจไม่ใช่การทำแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเก่า แต่พยายามอ่านทบทวนเนื้อหาการเรียนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องให้บ่อยเข้าไว้ โดยเฉพาะกลุ่มรายวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อนำไปเป็นความรู้ตอนสอบจริง